ค้นหาบล็อกนี้

17 กุมภาพันธ์ 2554

นักวิชาการไขข้อข้องใจน้ำหมักชีวภาพ

ตัดข่าว : นักวิชาการไขข้อข้องใจน้ำหมักชีวภาพ

เริ่มตั้งแต่กินได้หรือไม่ หมักยิ่งนานยิ่งดีจริงหรือ?

หวังสร้างความกระจ่าง กรณีน้ำหมักชีวภาพ หรือมหาบำบัด

น้ำหมักชีวภาพมีบทบาทเป็นทางเลือกในการส่งเสริมสุขภาพ แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาหลายด้าน เช่น เรื่องคุณภาพมาตรฐาน รูปแบบการจำหน่าย และการโฆษณา  กรณีข่าวที่เกิดขึ้น มีประชาชนจำนวนมากติดตามข่าวและมีข้อสงสัยหลายประการ ดังนั้นการแยกแยะประเด็นจากข่าวเรื่องน้ำหมักชีวภาพจึงมีความจำเป็นทั้งต่อ ผู้ผลิตและผู้บริโภค

ประการแรก น้ำหมักชีวภาพ ใช้กับคน พืชหรือสัตว์ กันแน่

 ก่อนอื่นต้องรู้จักน้ำหมักชีวภาพก่อน ว่า น้ำหมักชีวภาพโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

(1)น้ำหมักชีวภาพที่ใช้สำหรับพืชและสัตว์

(2 ) น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค

ทั้งสองประเภทมีความแตกต่าง คือ

ประการแรก เป็นความความแตกต่างในเรื่อง วัตถุดิบและกระบวนการผลิต  เช่น
  • น้ำหมักชีวภาพที่ใช้สำหรับพืชและสัตว์ มักใช้วัตถุดิบที่มาจากขยะ, สิ่งเหลือใช้ทั้งจากพืชจากสัตว์ หรือบางสูตรอาจใช้พืช ผัก และผลไม้ ตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ในพืชหรือสัตว์แต่ละชนิด  โดยกระบวนการผลิตจะทำอย่างง่ายเพื่อใช้ในภาคเกษตร
  • ส่วนน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค จะต้องคัดเลือกวัตถุดิบ เช่น พืช ผัก ผลไม้ โดยวัตถุดิบแต่ละชนิดจะมีกระบวนการคัดเลือกตามคุณสมบัติเพื่อการบริโภคทั้ง ด้านโภชนาการ และสรรพคุณของพืชนั้นๆ
 ที่สำคัญคือกระบวนการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ มี การควบคุมความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นจนขั้นตอนสุดท้ายของการผลิตโดย ไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายทั้งจากวัตถุดิบหรือที่เกิดขึ้นในกระบวน การหมัก และต้องผลิตให้ได้ตามมาตรฐานน้ำหมักสำหรับการบริโภค

ในปัจจุบันมีการพัฒนาใช้เอนไซม์หัวเชื้อในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ  หรือต้นเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการผลิตนั้นอาจเป็นได้ทั้งรูปแบบอย่างง่าย คือ ต้นเชื้อที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และต้นเชื้อบริสุทธิ์ที่สามารถควบคุมทั้งความปลอดภัยของน้ำหมัก และยังสามารถทำให้ได้คุณภาพ และประสิทธิผลต่อสุขภาพจากต้นเชื้อและสารเมทาบอไลต์ที่ได้จากต้นเชื้อ

ต้นเชื้อบริสุทธิ์ หรือเอนไซม์หัวเชื้อนี้จะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกหรือกระบวนการหมัก ให้ได้ต้นเชื้อหรือเอนไซม์บริสุทธิ์ที่มีคุณสมบัติเพียงพอในการใช้ผลิตน้ำ หมักชีวภาพให้ปลอดภัยในการบริโภค จึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ มาประกอบพอสมควร

ประการที่สอง น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

 ประเด็นนี้เป็นที่รับรู้กันว่า เมื่อมีการหมักจะต้องมีจุลินทรีย์เกิดขึ้น ซึ่งที่จริงแล้ว ไม่เพียงแต่มีจุลินทรีย์ หากแต่มีหลายสิ่งที่ปนเปื้อนซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ เช่น เกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้มี เมทาทอล เอทานอล และกลุ่มฟูเซลล์ออยล์ (Butanol, Propanol) ซึ่งหากรับประทานจะทำให้มึนหัว ดังนั้น เราต้องมีการควบคุมคุณภาพให้ได้น้ำหมักที่ดีคือ
  1. ไม่พบสิ่งปลอมปน 
  2. เอทานอลต้องไม่เกินร้อยละ 3 
  3. เมทานอลต้องไม่เกิน 240 มิลลิกรัมต่อลิตร
 ส่วนจุลินทรีย์นั้นในการหมักอาจพบจุลินทรีย์ได้ 2 กลุ่มคือ 
  1. กลุ่มก่อโรค
  2. กลุ่มเสริมสุขภาพ

จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคที่ต้องควบคุม คือ
  • ซาลโมเนลลา ต้องไม่พบในตัวอย่าง 50 กรัม 
  • สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส ต้องไม่พบในตัวอย่าง 1 มิลลิกรัม  
  • คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์  ต้องไม่พบในตัวอย่าง 0.1 กรัม 
  • เอสเชอริเชีย โคไลต้องน้อยกว่า 2.2 ต่อตัวอย่าง 100 มิลลิลิตร 
  • ยีสต์และราต้องไม่เกิน 100 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 มิลลิลิตร 

 ส่วนจุลินทรีย์ที่ดี คือ
  1. จุลินทรีย์เสริมชีวนะหรือโปรไบโอติก (probiotic) เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดกรดแลกติก (กรดน้ำนม) จุลินทรีย์ชนิดนี้ ถูกนำใช้ในการผลิตโยเกิร์ต นมเปรี้ยว มีประโยชน์ คือ ช่วยไม่ให้เชื้อก่อโรคเจริญได้ ปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร ช่วยในการเหนี่ยวนำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล 
  2. นอกจากนี้ยังพบคุณสมบัติของจุลินทรีย์เสริมชีวนะในการช่วยลดการเกิดสาร ก่อมะเร็ง และกลไกที่ชักนำให้เกิดมะเร็งจากการสามารถย่อยและจับสารก่อมะเร็งเอาไว้ได้ รวมถึง การลดการทำงานของเอนไซม์ที่มีกิจกรรมก่อให้เกิดสารพลอยได้ที่เป็นสารก่อ มะเร็ง เป็นต้น ยกตัวอย่างจุลินทรีย์กลุ่มนี้ คือ  แบคทีเรีย แลกโตบาซิลลัส เคซิอิ (Lactobacillus casei) แลกโตบาซิลลัส อะซิโดฟิลุส (Lactobacillus acidophilus) แลกโตบาซิลลัส แพลนทารัม (Lactobacillus plantarum) เป็นต้น

 การควบคุมอีกเรื่องที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในการหมัก คือ กรด ซึ่งโดยทั่วไปกรดที่เกิดในกระบวนการหมักถือเป็นการถนอมอาหารไปในตัว ความเป็นกรดของน้ำหมักเพื่อการบริโภคต้องมีค่าความเป็นกรดด่าง หรือค่าพีเอช (pH) ต่ำกว่า 4.3 จึงจะควบคุมการเจริญของเชื้อก่อโรคได้

"สำหรับกรณีที่เป็นข่าวว่านำน้ำหมักไปใช้หยอดตานั้น  โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์สำหรับตานั้นต้องไม่มีจุลินทรีย์ รวมทั้งต้องปรับสภาพความเป็นกรดด่างให้มีค่า 7.4 เพื่อไม่ให้ระคายเคืองต่อตา การนำน้ำหมักที่ยังไม่ผ่านกระบวนการใด ๆ ไปหยอดตาถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร"


 ประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค คือ ได้จากจุลินทรีย์ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับว่าหัวเชื้อเป็นอย่างไร และประโยชน์จากคุณค่าสารสำคัญตามชนิดของพืชผักผลไม้ที่นำมาใช้หมัก เพราะการหมักเป็นการแปรรูปที่เป็นการสกัดสารสำคัญในพืชผักผลไม้ ซึ่งในประเทศไทยเรามี พืชวัตถุดิบมากมายที่นำมาใช้ เช่น ลูกยอ มะขามป้อม ผลไม้ชนิดต่าง ๆ ตามฤดูกาล

ดังนั้น น้ำหมักชีวภาพที่ดี ก็ต้องมีสารสำคัญของพืชผักผลไม้ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งในการหมักจะมีสารสำคัญออกมา สารสำคัญนี้แหละที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสุขภาพ นอกเหนือจากโปรไบโอติก ดังนั้นในวัตถุดิบที่เราหมัก จะใช้เวลาแตกต่างกันที่จะสกัดสารสำคัญออกมา

ประการที่สาม หมักยิ่งนานยิ่งดีจริงหรือ

   การหมักแต่ละชนิดจะมีระยะเวลาที่เหมาะสม 2 องค์ประกอบ คือ
  1. ระยะเวลาของการเจริญของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งหากมีการหมักนานกว่า 2 ปี จุลินทรีย์กลุ่มนี้ ก็จะตายหรือหมดไป   อีกประการหนึ่งคือ  การหมักจะทำให้เราได้สารสำคัญออกมา เพราะเมื่อสารสำคัญออกมาหมดแล้ว กระบวนการสกัดก็สิ้นสุดลง เหลือเพียงกระบวนการเปลี่ยนแปลงขนาดของโมเลกุลให้เล็กลง เมื่อเวลาหมักนานขึ้น

 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อคุณสมบัติของน้ำหมัก คือ เมื่อมีการหมักอาจทำให้วิตามินซีสลายตัวไป โดยปกติคนเราจะคิดว่ารสเปรี้ยวแสดงว่ามีวิตามินซี ตรงนี้เป็นความเข้าใจผิด สำหรับน้ำหมักจะมีรสเปรี้ยวเพราะเกิดจากจุลินทรีย์กลุ่มแลกติกที่อยู่ใน กระบวนการหมัก ส่วน ภาชนะบรรจุ  แสง อุณหภูมิ และ อากาศ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คุณสมบัติของน้ำหมักไม่คงตัว ดังนั้นการควบคุมคุณภาพของน้ำหมักเพื่อการบริโภคจึงต้องดูปัจจัยที่เกี่ยว ข้องเหล่านี้ด้วย

ประการที่สี่ น้ำหมักชีวภาพใช้ได้ครอบจักรวาลหรือไม่

 ประเด็นนี้แหละที่เกิดปัญหาโฆษณาเกินจริง เพราะมีการเหมารวม ซึ่งไม่ถูกต้อง
  • ประการแรกน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคเป็นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (พืช ผัก ผลไม้) เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ใช่เป็นยา  
  • ประการที่สอง น้ำหมักแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติต่างกัน จากวัตถุดิบที่ต่างกันและหัวเชื้อต่างกัน ดังนั้นน้ำหมักแต่ละชนิดไม่สามารถดูแลสุขภาพได้ครอบจักรวาล

ประการที่ห้า น้ำหมักชีวภาพแบบภูมิปัญญาชาวบ้านใช้ไม่ได้หรือ

 เรื่องนี้เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของประเทศไทยเรา ที่มีภูมิปัญญาดั้งเดิมสำคัญคือ
(1) กระบวนการหมักของชุมชน
(2) วัตถุดิบพืชผักผลไม้ไทยที่หลากหลาย และ
(3) ภูมิปัญญาการนำพืชไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์

 ทั้งสามประการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของน้ำหมักชีวภาพ แต่ประเด็นที่อยากทำความเข้าใจคือ แต่เดิมมาการใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้เป็นลักษณะพื้นบ้าน ผลิตกันเองในครอบครัวหรือในหมู่บ้าน ไม่ได้ทำจำนวนมาก ไม่มีการขาย ไม่มีการเห่อตามกระแส แต่ปัจจุบันมีการผลิตเพื่อการจำหน่ายมากขึ้น การควบคุมคุณภาพมาตรฐานจึงต้องมีการพัฒนา  เพื่อความปลอดภัย และเพื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในการเสริมสร้างสุขภาพ

 ปัจจุบันมีความพยายามพัฒนาน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคในชุมชนตลอดมา และขณะเดียวกันก็มีการต่อยอดการวิจัยมากมาย เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพมาตรฐาน  จึงมีการวิจัยร่วมกับชุมชน  เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตโดยใช้ต้นเชื้อผักดอง

 ทั้งนี้  ฝ่ายชุมชนและผู้ด้อยโอกาส ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับศูนย์ประสานงานพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ศพช.อย.) ได้เข้ามามีบทบาทในแง่ของการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยในเรื่องดังกล่าว

  โดยมี ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นำไปสู่การถ่ายทอดความรู้ แนะนำแนวทางการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีชีวภาพอย่างง่ายๆเข้ามาช่วย ตลอดจนผลักดันในการวางตัวบทกฎเกณฑ์ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพให้เป็นมาตรฐาน เดียวกัน

จนได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน 481/2547 (มผช.481/2547) เป็นมาตรฐานรับรองความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค และยังได้ร่วมมือกันจัดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอ เช่น โครงการเรียนรู้แบบออนไลน์ (E-learning)   การจัดเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบหนังสือและซีดี

 โดยจะมีการจัดถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคขึ้นอีก ในระหว่าง วันที่ 13-14 มีนาคม 2553 ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2553  ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. ติดต่อเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ที่ฝ่ายชุมชนและผู้ด้อยโอกาส ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สวทช. โทร. 02-5648000 หรือคณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร 086-4488073 และติดต่อบทเรียนอิเลคโทรนิคส์ได้ที่ ศูนย์หนังสือสวทช.โทร. 02-5647000

 “หากชุมชนหรือผู้ประกอบการต้องการที่จะผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค ควรเพิ่มเติมความรู้เพื่อการผลิตที่ดี และพึงตระหนักว่าน้ำหมักชีวภาพไม่ใช่ยา แต่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน  จึงไม่ควรหลงเชื่อการโฆษณาเกินจริง”

ผศ.ดร.ไชย วัฒน์ ไชยสุต ผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัยน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค  อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข้อมูลจาก http://friutenzyme.blogspot.com/2010/02/blog-post_22.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น